การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่สามารถคาดการณ์ได้ทั้งจากภัยธรรมชาติ เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การก่อการร้าย การโจมตีทางไซเบอร์ การชุมนุมประท้วง การเกิดเพลิงไหม้ การหกรั่วไหลของสารเคมี เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการผลิตของบริษัทฯ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการตอบสนองและฟื้นคืนการดำเนินงานได้ในภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลารวดเร็ว และการสื่อสารที่เหมาะสมเพียงพอ จะช่วยลดความสูญเสียของบริษัทฯ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย
บ้านปู เพาเวอร์ จัดทำระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจโดยอ้างอิงหลักการและข้อกำหนดของมาตรฐานสากล ISO 22301 ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการชี้บ่งกระบวนการทำงานที่สำคัญ การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจและการประเมินความเสี่ยง ตลอดจนจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจและการฝึกซ้อม โดยเป้าหมายหลักของการดำเนินงานคือ
การบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับการผนวกภายใต้การดูแลและบริหารจัดการของกลุ่มบ้านปู โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบ้านปู เพาเวอร์ เป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารการจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Management Team) และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สั่งการและให้ข้อมูลแก่สาธารณะในกรณีเกิดเหตุการณ์ในธุรกิจไฟฟ้า การทำงานในลักษณะผสานกันเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ จึงเป็นการประหยัดทรัพยากรในการดำเนินงานและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
ในการฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ บริษัทฯ กำหนดให้มีการฝึกซ้อมในระดับประเทศและระดับองค์กรทุกปีอย่างสม่ำเสมอ โดยจะดำเนินการสลับกัน รวมทั้งมีการเฝ้าระวังและทบทวนสมรรถนะการดำเนินงานของระบบผ่านการตรวจติดตามภายในและการทบทวนของฝ่ายบริหารเป็นประจำทุกปี และสนับสนุนให้แต่ละหน่วยธุรกิจแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการตอบสนองต่อภัยคุกคามต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ
โรงไฟฟ้าที่เป็นบริษัทร่วมทุน อาทิ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี โรงไฟฟ้าเอชพีซี และบ้านปูเน็กซ์ บริษัทฯ ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยตรง มีการกำกับดูแลผ่านคณะกรรมการในบริษัทนั้นๆ ดังนั้น การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจของบริษัทร่วมทุนจึงไม่ได้รวมอยู่ในโครงสร้างนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้กำหนดเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงาน เพื่อรายงานข้อมูลและสถานการณ์ปัจจุบันสำหรับเตรียมการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับบ้านปู เพาเวอร์ ในฐานะบริษัทร่วมทุน
บ้านปู เพาเวอร์ สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีหน่วยธุรกิจใดต้องหยุดชะงักหรือหยุดการผลิตในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมมาเป็นระยะเวลานาน ด้วยการนำมาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ISO 22301) มาใช้ในการดำเนินงาน ทำให้สามารถตอบสนองและปรับตัวเมื่อเกิดภาวะวิกฤติได้อย่างคล่องตัว อีกทั้งยังสามารถฟื้นคืนการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดความสูญเสียและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเป้าหมายหลักของการดำเนินงานคือ
Response ดำเนินการตอบสนองต่อเหตุการณ์และป้องกันความเสียหายลุกลามได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อสารข้อมูลต่อภายในและภายนอกอย่างเหมาะสม
Recover สามารถฟื้นคืนกิจกรรมหลักที่จำเป็น เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการหลักภายในระยะเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียยอมรับได้
Restore สามารถฟื้นคืนกิจกรรมทั้งหมด ภายในระยะเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียยอมรับได้
บริษัทฯ กำหนดมาตรการป้องกันในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้
การจำกัดการเดินทาง โดยให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้าทุกคนพักอาศัยอยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้าเพื่อลดการติดเชื้อจากการเดินทาง
การบริหารจัดการการประชุม โดยหลีกเลี่ยงการประชุมที่ไม่จำเป็น ลดจำนวนผู้เข้าประชุม เว้นระยะห่างในการประชุม และใช้การประชุมออนไลน์
การจัดสถานประกอบการให้ปลอดเชื้อ
- การลงทะเบียนและการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าทำงานทุกวันสำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้รับเหมาทุกคน
- กำหนดระยะห่างในการปฏิบัติงาน
- การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค โดยกำหนดให้ทำความสะอาดพื้นที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ทุกวัน
- การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอย่างเพียงพอสำหรับผู้ปฏิบัติงานทุกคน และมีการตรวจสอบให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
การทำงานจากที่พักอาศัย โดยพนักงานที่สำนักงานทั้งในไทย และต่างประเทศ ทำงานจากที่พักอาศัยทั้งหมด ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด
การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เนื่องจากถูกจำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่โดยรัฐบาล ในกรณีนี้บริษัทฯ ได้ขออนุญาตเป็นกรณีเพิเศษกับทางรัฐบาลให้รถขนส่งวัตถุดิบที่มาจากต่างพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าได้ และมีมาตรการควบคุมควบคุมอย่างเคร่งครัดกับรถขนส่งวัตถุดิบ เพื่อให้ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
การจัดทำแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉิน (Emergency Response Plan) โดยบริษัทฯ ได้จัดทำตามข้อกำหนดรของรัฐบาลท้องถิ่นและได้รับการตรวจสอบจากรัฐบาลท้องถิ่นในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ปัจจัยหลักที่ทำให้บ้านปู เพาเวอร์ ยังคงความสามารถในการดำเนินงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสรุปได้แก่
การนำระบบการบริหารงานความต่อเนื่องทางธุรกิจ ISO 22301 มาใช้ก่อนที่เหตุการณ์เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
การเตรียมความพร้อมของระบบสารสนเทศขึ้นสู่ระบบคลาวด์ (cloud computing) รองรับการใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องเข้าสำนักงาน และยังสามารถกู้คืนระบบฐานข้อมูลที่จำเป็นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
การกำหนดมาตรการป้องกัน บรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคณะทำงานในแต่ละประเทศสามารถตัดสินใจในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงานเป็นสำคัญ
กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและช่องทางการสื่อสารที่ชัดเจนและรวดเร็ว
ฝึกอบรมและฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี
สำนักงานและโรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพให้แก่ลูกค้าทั้งภายนอกและภายในบริษัทฯ ได้เสมือนการดำเนินงานปกติ นอกจากนี้ สำนักงานปักกิ่งยังได้รับการรับรองการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ISO 22301 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 สำนักงานในจีนได้ฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับประเทศ โดยได้จำลองสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอาคารสำนักงานและอาคารสำนักงานได้ถูกปิดกั้น ผลการฝึกซ้อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ มีการตอบโต้เหตุการณ์อย่างทันท่วงที มีการประกาศใช้แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ระยะเวลาเป้าหมายในการฟื้นคืนของหน่วยธุรกิจที่สำคัญเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดมีการสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการฝึกซ้อมในครั้งนี้ได้สร้างความตระหนักเมื่อมีเหตุชะงักเนื่องด้วยโรคระบาดได้เป็นอย่างดี


การดำเนินงานในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของโรงไฟฟ้าเอชพีซี เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีข้อจำกัดด้านการขนส่ง การแพทย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกทั้งมีพนักงานและผู้รับเหมาจำนวนมากที่มีความเสี่ยงการรับสัมผัสเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการเดินทางระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้โรงไฟฟ้าจึงได้เตรียมความพร้อมสำหรับรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้
การสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยจัดตั้งสายด่วนฉุกเฉิน หรือ Emergency Call Center เพื่อเป็นหน่วยงานสำหรับสื่อสารข้อมูลและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ให้แก่พนักงาน ผู้รับเหมา และชุมชนบริเวณใกล้เคียงได้รับทราบ
มาตรการ กลยุทธ์ และการวางแผน โดยปรับเปลี่ยนแผนการซ่อมบำรุงและจัดเตรียมวัตถุดิบให้พร้อมใช้งาน แบ่งกะทำงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งจัดเตรียมแผนฉุกเฉินหากมีพนักงานติดเชื้อ เช่น แผนปิดกั้นพื้นที่ทำงานบางส่วน แผนการทำงานจากที่พักอาศัย แผนการควบคุมและห้ามเดินทางไปพื้นที่ชุมชน เพื่อสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้เป้าหมาย ดำเนินงานได้อย่างราบรื่นและปลอดภัยสำหรับทุกคน
การตรวจคัดกรอง ติดตาม และการดำเนินการรักษา โดยกำหนดให้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญที่พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติ เพิ่มการตรวจคัดกรองสุขภาพอย่างเข้มงวดก่อนเข้าพื้นที่ จำกัดการเข้าถึงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ และจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับดูแลและสังเกตอาการภายในพื้นที่
การประสานงานและสนับสนุน โดยดำเนินการฉีดวัคซีน 8,000 โดสที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐให้กับพนักงานจำนวน 4,000 คน ภายในเดือนมิถุนายน 2564 รวมทั้งมีประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตไทยและรัฐบาลลาวในการจัดการขนส่งข้ามแดน
ชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน โดยการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้เพียงพอ อาทิ หน้ากากอนามัย อาหาร เจลทำความสะอาด ยาเวชภัณฑ์ เป็นต้น อีกทั้งอนุญาตให้พนักงานสามารถสำรองวันลาเพื่อจัดการแผนการลาประจำปีสำหรับวันหยุดและเดินทางกลับประเทศไทย
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 แผนกสื่อสารองค์กรของกลุ่มบ้านปู ได้จัดการฝึกซ้อมของทีมสื่อสารในภาวะวิกฤติ (Crisis Communication Team : CCT) ของบ้านปู เพาเวอร์ ณ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมของทีมสื่อสารฯ ทั้งผู้บริหารและพนักงานของบ้านปู เพาเวอร์ ในการสื่อสารข้อมูลให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบอย่างเหมาะสม โดยกำหนดสถานการณ์สมมติที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรจากการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อเรียกค่าไถ่ การระเบิดของหม้อต้มไอน้ำที่โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในจีน และภัยพิบัติจากไต้ฝุ่นที่เวียดนาม ผลจากการฝึกซ้อมได้นำมาพิจารณาเพื่อหาแนวทางการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพต่อไป
